น.ส.ชลธิชา พุฒซ้อน เลขที่ 28 สาขานาฏศิลป์ไทย โครงงานฉุยฉายเบญจกาย
วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559
โครงงานฉุยฉายเบญจกาย
นางสาวชลธิชา พุฒซ้อน เลขที่ 28 สาขานาฏศิลป์ไทย
โครงงานเรื่อง ฉุยฉายเบญจกาย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอนในการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์
2. เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาในการศึกษาหาความรู้
ประวัติความเป็นมา
ฉุยฉายเบญจกายเป็นการแสดงชุดหนึ่งของการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ชุดนางลอย ซึ่งเป็นบทบาทของนางเบญจกายที่ทศกัณฐ์ออกอุบายให้ แปลงกายเป็นนางสีดาทำตายลอยน้ำไปยังหน้าพลับพลาของพระราม เมื่อพระรามเห็นแล้วก็คิดว่านางสีดาตายแล้วจะได้ยกทัพกลับ นางเบญจกายจำใจรับอาสาออกไปดูนางสีดายังสวนขวัญ แล้วกลับมาแปลงร่างเป็นนางสีดา เมื่อแปลงกายแล้วก็มารำฉุยฉายเบญจกายอวดความงามว่าแปลงกายได้เหมือนนางสีดา
ลักษณะและรูปแบบการแสดง
ฉุยฉายเบญจกาย เป็นการแสดงประเภทรำเดี่ยว ที่อวดลีลาท่ารำที่อ่อนช้อยงดงาม มีการบวนท่ารำตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทยมีลักษณะรูปแบบการแสดง ได้ ๒ แบบ คือ
๑. เป็นการแสดงเป็นชุดเป็นตอนในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ชุดนางลอย๒. เป็นการรำเดี่ยวที่แสดงในงานมงคลและอวมงคลทั่วไป
การแต่งกาย
ฉุยฉายเบญกายแต่งกายยินเครื่องนาง ( สีแดงเขียว ) มีเครื่องแต่งกาย ดังนี้
การแต่งกายแบบยืนเครื่องนาง มีดังนี้
- กำไลเท้า - เสื้อในนาง แล้วสวมสะอิ้ง ( สร้อยตัว )
- ผ้านุ่งนางหรือภูษา - เข็มขัดและปั้นเหน่ง
- ผ้าห่มนาง - นวมนางหรือกรองคอ
- จี้นางหรือตาบทับ - พาหุรัด
- แหวนรอบ - ปะวะหล่ำ
- กำไลตะขาบ - ทองกร
- ธำมรงค์หรือแหวน - มงกุฎกษัตรีย์
- ดอกไม้ทัด ( ด้านซ้าย ) - อุบะ
เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงฉุยฉายเบญจกาย ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบด้วย ปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด ตะโพนและฉิ่ง
เนื้อร้องและทำนองเพลง
เพลงฉุยฉายเบญจกายแปลงเป็นเพลงอัตรา ๒ ชั้น มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเพลงร้องประกอบกิริยาอาการของผู้แสดงที่มีความภาคภูมิใจในการแต่งกายของตนเอง เพลงชุดนี้มี ๒ เพลงรวมอยู่ด้วยกันคือเพลงฉุยฉายและเพลงแม่ศรี ในตอนแรกร้องเพลงฉุยฉายก่อนร้องหมดคำหนึ่งก็จะมีปี่เป่าเลียนทำนองและเสียงร้องตาม แล้วจึงบรรเลงรับต่อด้วยเพลงแม่ศรี เพลงฉุยฉายเบญกายมี ๒ แบบ คือ ฉุยฉายเบญจกายแบบเต็มและฉุยฉายเบญกายแบบย่อ ในที่นี้จะกล่าวถึงเนื้อเพลงฉุยฉายเบญจกายแบบเต็ม ดังนี้ (กรมศิลปากร , ๒๔๙๔ : ๙๔ , ๙๖ )
บทร้องฉุยฉายเบญจกายแปลง
ฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย เข้าไปเผ้าเจ้าก็กรีดกราย
เยื้องย่างเจ้าช่างแปลงกาย ให้ละเมียดละม้ายสีดานงลักษณ์
ถึงพระรามเห็นทรามวัย จะฉงนพระทัยให้อะเหลื่ออะหลัก
งามนักเอย ใครเห็นพิมพ์พักตร์ก็จะรักจะใคร่
หลับก็จะฝันครั้นตื่นก็จะคิด อยากจะเห็นอีกสักนิดหนึ่งให้ชื่นใจ
งามคมดุจคมศรชัย ถูกนอกทะลุในให้เจ็บอุรา
เพลงแม่ศรี
แม่ศรีเอย แม่ศรีราชสีห์
แม่แปลงอินทรีย์ เป็นแม่ศรีสีดา
ทศพักตร์มลักเห็น จะตื่นเต้นในวิญญาณ์
เหมือนล้อเล่นให้เป็นบ้า ระอาเจ้าแม่ศรีเอย
อรชรเอย อรชรอ้อนแอ้น
เอวขาแขนแมน แม้นเหมือนกินรี
ระทวยนวยนาฏ วิลาสจรลี
ขึ้นปราสาทมณี เฝ้าพระปิตุลาเอย
ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว ลา
ความหมายของเพลง
นางเบญจกายเดินกรีดกรายเพื่อจะไปเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ ลีลาท่าเดินของนางเบญจกายเหมือนกับนางสีดามาก หากพระรามได้พบเห็นก็จะเกิดความสงสัย นางมีใบหน้างดงามมากหากใครได้เห็นก็จะเก็บไปฝัน และอยากจะเห็นอีกครั้งหนึ่ง นางมีดวงตาที่งามคมเปรียบเสมือนศรที่แผลงมาถูกอกแม่นางยักษ์แปลงเป็นนางสีดา หากทศกัณฐ์ได้มาเห็นก็จะตื่นเต้น เหมือนล้อให้ดีใจหลงใหลในตัวนาง รูปร่างของนางช่างอรชรอ้อนแอ้น แขนขางดงามเหมือนนางกินรี นางเดินเยื้องกรายไปยังปราสาทเพื่อเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ผู้เป็นลุง
ท่ารำ
การรำฉุยฉายเบญจกายเป็นการรำเดี่ยวที่อวดฝีมือของผู้แสดง ที่มีลีลาท่ารำอ่อนช้อยงดงามตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย และเป็นผู้ที่มีรูปร่างงดงามนุ่มนวล สอดคล้องกับบทบาทที่ได้รับเนื่องจากเป็นการรำเดี่ยว ดังนั้นผู้รำจะต้องมีความแม่นยำ มีปฏิภาณไหวพริบและแสดงอารมณ์ได้สมบทบาทในการแสดงได้ดี
โอกาสที่ใช้แสดง
ฉุยฉายเบญจกายใช้แสดงได้ ๒ โอกาสดังนี้
๑. เป็นการแสดงชุดหนึ่งในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย
๒. ใช้แสดงในงานมงคลและอวมงคลทั่วไป
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)